Return to site

POSITIVE CHANGES: ผลของการพัฒนาที่มีคุณค่ามากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามา

· Social Enterprise,CBT,Positive Changes,ผลกระทบเชิงบวก,Positive Impact
broken image

Positive Changes

x

SE (Social Enterprise)

x

CBTs (Community Based-Tourisms)

เนื่องจากช่วง COVID-19 เรายังต้องให้ความร่วมมือกับคุณหมออย่างรับผิดชอบด้วยการรักษาระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing โดยการทำงานที่บ้าน (WFH: Work From Home) เหตุการณ์นี้ไม่ได้ส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ชุมชนท่องเที่ยวหลายๆชุมชนก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทำให้ช่วงนี้ทางนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ได้ทำการอัพเดทข่าวสารผ่านทางออนไลน์ร่วมกับ 3 ชุมชนท่องเที่ยวที่พัฒนามาร่วมกันมาระหว่าง มูลนิธิสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-i), สมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA), มูลนิธิเครือข่ายอันดามันเหนือ (NAN) และ ฯลฯ ที่มองผลของการพัฒนามากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว และปริมาณรายได้ คือ

  • ชุมชนเขาเทพพิทักษ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ชุมชนบ้านเมืองแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ชุมชนบ้านผามอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยทั้ง 3 ชุมชนและ 3 หน่วยงานพัฒนา มีการเชื่อมโยงกับ Planeterra Foundation ที่นำแนวคิดเรื่องกิจการเพื่อสังคม (SE: Social Enterprise) มาใช้ต่อยอดกับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่สิ่งที่สำคัญมากที่ทำให้การพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ คือการเชื่อมโยงชุมชนท่องเที่ยวเหล่านั้นไปให้ถึงตลาดนักท่องเที่ยว ซึ่ง Planeterra Foundation ได้เข้าถึงกลุ่มตลาดที่สำคัญคือบริษัท G Adventures ทำให้การพัฒนานั้นเห็นผลกระทบเชิงบวกที่ตามมาได้อย่างเป็นรูปธรรม ลองคิดดูนะครับ ถ้าหากเราพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวขึ้นมาแล้ว แต่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการ ชุมชนจะขาดแบบฝึกหัดในการพัฒนาเรื่องการจัดการของตัวเอง ทำให้ไม่มีมาตรฐานการให้บริการที่แน่นอน

นอกจากนี้ในส่วนของสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA) ยังเป็นอีกหนึ่งกลไกในการหนุนเสริมเรื่องแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ให้กับชุมชนและยังมีส่วนร่วมในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไปสมทบให้กับชุมชนอีกด้วย มาดูการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของทั้ง 3 ชุมชนว่ามีทิศทางอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นกับใครบ้าง

broken image

ชุมชนเขาเทพพิทักษ์เป็นการทำงานพัฒนาร่วมกันระหว่างสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA) และมูลนิธิเครือข่ายอันดามันเหนือ (NAN) ภายใต้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว 5 ด้านคือ ที่พัก อาหาร กิจกรรมท่องเที่ยว การขนส่ง และของที่ระลึก โดยที่ผู้ประกอบการสามารถนำรายได้จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลงสู่ระดับชุมชนท้องถิ่นผ่านห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม และส่งเสริมทุนร่วมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ

broken image

ในส่วนของชุมชนเขาเทพพิทักษ์นั้น เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางอย่างเขื่อนรัชประภาและอุทยานแห่งชาติเขาสก ทำให้ชุมชนนี้มีศักยภาพในการนำเสนอบริการให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยทางทีม TRTA และ NAN ได้พัฒนาบริการอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนเขาเทพพิทักษ์ ในการให้บริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้ ซึ่งหลังจากการพัฒนาบริการนี้แล้วได้มีการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการแล้ว มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการส่งผลให้เกิด Positive Changes อย่างไรบ้าง มาดูกัน

  • มีการพัฒนาโครงสร้างเพิ่มขึ้น ขยายพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ
  • การพัฒนามาตรฐาน การบริการด้านอาหารดีขึ้น
  • ชาวบ้านตื่นตัวมากขึ้น
  • สมาชิกมีการเตรียมการเรื่องวัตถุดิบอย่างเพียงพอ
  • กลุ่มได้นำรายได้ไปต่อยอดและสนันสนุนกิจกรรมในชุมชนต่างๆ อย่างมากมาย
  • กลายเป็นศูนย์ชุมชุนที่เดียวในพื้นที่ระดับอำเภอทีเป็นแหล่งเรียนรุ้ชุมชน
broken image

ชุมชนบ้านเมืองแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ผ่านการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับทางสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-i) โดยเป็นรูปแบบการพัฒนาที่ทำครบทั้ง 5 ด้านของห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวคือ ที่พัก อาหาร กิจกรรมท่องเที่ยว การขนส่ง และของที่ระลึก เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการส่งผลให้เกิด Positive Changes อย่างไรบ้าง มาดูกัน

  • การเปลี่ยนแปลงในชุมชน​ 
  1. ชุมชนมีการอนุรักษ์วิถีชีวิตวัฒนธรรมภูมิปัญญามากขึ้น เช่น การทอผ้า, การย้อมสีผ้าธรรมชาติ ที่แม่บ้านยังคงพัฒนาฝีมือตัวเองเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว
  2. ชุมชนมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน ที่เห็นความสำคัญมากขึ้น เช่น การบวชป่าอนุรักษ์ป่าชุมชน การอนุรักษ์ปลาซึ่งเป็นทรัพยากรทางน้ำที่สามารถเก็บไว้ให้ลูกหลานได้เห็นและได้ใช้ประโยชน์และเป็นแหล่งอาหารให้กับลูกหลานอย่างยั่งยืน
  3. ชุมชนมีการสร้างสุขอนามัยที่ดีขึ้น เช่น การคัดแยกขยะ, การสร้างแทงค์น้ำเพื่อเก็บน้ำใว้ในการใช้และอุปโภคบริโภคและเพื่อการท่องเที่ยว การทำอาหารที่ถูกสุขลักษณะสะอาดปลอดภัยสําหรับการบริโภคเองและการบริการให้กับนักท่องเที่ยว
  4. ชุมชนเกิดรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวทั้งสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวและคนในชุมชน ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยว
  5. สมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การฝึกสื่อสารภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ
  6. เกิดการทำงานเป็นกลุ่มในชุมชนและสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานองค์กรภายนอกได้
  7. สมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวเกิดการพัฒนาตัวเองเพิ่มมากขึ้น เช่น การพัฒนาบ้านพัก, ห้องน้ำ เพื่อให้ปลอดภัยกับตัวเองและผู้มาเยือน
  8. กลุ่มท่องเที่ยวในชุมชนมีกองทุนพัฒนากลุ่มและสามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้ เช่น การบริจาคค่าอาหารในการทำแนวกันไฟชุมชน, บริจาคงานวันเด็ก, บริจาคให้กีฬาเยาวชน เป็นต้น
  • กลุ่มคนผู้ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว
  1. สมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวบ้านเมืองแพม ได้แก่ ไกด์ชุมชน, กลุ่มสตรีทอผ้า, กลุ่มฐานเรียนรู้, กลุ่มบ้านพัก, กลุ่มรถรับ-ส่ง นักท่องเที่ยว
  2. ร้านค้าในชุมชม
  3. แม่บ้านในชุมชนที่ไม่ใช่สมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวมีรายได้เสริมจากการขายผ้า
  4. ชุมชนใกล้เคียง เช่น บ้านถ้ำลอด
  5. โรงเรียนบ้านเมืองแพม
  6. หน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนรู้จักบ้านเมืองแพมผ่านการท่องเที่ยวมากขึ้น
broken image
บ้านผามอน

ชุมชนบ้านผามอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนเล็กๆที่พัฒนาภายใต้ Planeterra Foundation โดยให้ทุนในการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากบริษัท G Adventures และมีสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-i) เป็นพันธมิตรลงพื้นที่ทำงานด้านการฝึกอบรมให้กับชุมชน เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการส่งผลให้เกิด Positive Changes อย่างไรบ้าง มาดูกัน

  • ชาวบ้านผามอน มีความรัก ความสามัคคี ให้ความสำคัญกับงานส่วนรวมมากขึ้น
  • ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับนักท่องเที่ยว ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
  • ทำให้มีเงินออมของกลุ่ม สามารถนำไปช่วยเหลือ สนับสนุนในงานส่วนรวมของชุมชนได้
  • ทำให้หมู่บ้านมีการพัฒนาขึ้น ทั้งในบ้าน และถนนหนทางในการเข้าถึงและการเดินทางของคนในท้องถิ่น
  • ทำให้มีการอนุรักษ์วิถีชนเผ่า ทั้งด้านชุดชนเผ่า ประเพณีวัฒนธรรมและอาหารชนเผ่า
  • ทำให้ชาวบ้านมีที่กักเก็บน้ำใช้ในหน้าแล้ง
broken image

หากใครทำงานเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวอยู่ ลองนำแนวคิดเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม (SE: Social Enterprise) กับแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหรือชุมชนท่องเที่ยวกันดู แล้วอย่าลืมวัดผลหรือติดตามผลว่าเกิด Positive Changes อะไรกันบ้างนะครับ ได้ผลอย่างไรนำมาแบ่งปันกันได้นะครับ เพื่อการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด

broken image

RT Spirit by Panot Pakongsup

President: Thai Responsible Tourism Association (TRTA)

Founder: Tour Merng Tai

Community Development Specialist: Planeterra Foundation